วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เรื่องจิตไม่สงบเพราะเกาะติดทุกข์-สุข





จากนั้นสมเด็จองค์ปฐมได้ทรงพระเมตตามาสอนเพื่อนที่ร่วมปฏิบัติธรรมของผมต่อ ในวันที่ 25 ก.พ. 2536 ขณะไปปฏิบัติพระกรรมฐานที่วิหาร 100 เมตร “เรื่องจิตไม่สงบเพราะเกาะติด ทุกข์-สุข” มีความสำคัญดังนี้


1. “เจ้าไม่ต้องห่วงว่าอิทธิพลคุณไสย จะมีอำนาจเข้ามาก่อกวนในวิหาร 100 เมตร ตถาคตคุมอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา คือ พุทโธอัปปมาโณ”


2. “ต่อไปนี้ขอให้เจ้า หมั่นดูอารมณ์ของตนเอง อย่าไปมองดูอารมณ์ของคนอื่น การที่จะพ้นทุกข์แห่งอารมณ์พอใจหรือไม่พอใจ ก็ต้องสังเกตุที่จุดนี้ กำหนดสติสัมปชัญญะ รู้ให้ได้ว่าขณะนี้กำลังเสวยอารมณ์อะไรอยู่ เมื่อเรียนรู้อารมณ์ที่เสวยแล้ว ก็ต้องหมั่นเอาพระกรรมฐานเข้ามาแก้อารมณ์ที่เป็นพิษนั้น ๆ จิตไร้ความสงบ เพราะอารมณ์ของจิตดิ้นรนเกาะติดทุกข์-สุข ถ้าหากศึกษาไม่ถ่องแท้แล้ว ก็จักแก้ไขจุดนี้ได้ยาก ต้องรู้จริงกระทบจริงด้วยสติสัมปชัญญะที่ว่องไวอันตามรู้ว่ากิเลสชนิดใดได้เกิดขึ้นแล้วในขณะจิตนั้น ถ้าไม่รู้ก็แก้เขไม่ได้ ต้องหลงปล่อยให้จิตเป็นทาสของอารมณ์อยู่ร่ำไปอย่าท้อแท้ พลั้งบ้างเผลอบ้างเป็นธรรมดา หมั่นเพียรดูจิต เสวยอารมณ์อยู่เสมอๆ ใหม่ๆ มันก็ยุ่งยากหนักใจบ้างเป็นธรรมดา แต่กำหนดรู้ไปนานๆ ก็จักเกิดความชินเอง”


3. “ความทุกข์ใดๆ จักยิ่งไปกว่าอารมณ์จิตของตนเองทำร้ายตนเองนั้นไม่มี การไปพรหมโลก เทวโลก ติดสุขด้วยอารมณ์นี้ การไปอบายภูมิ 4 อันมีสัตว์นรกเป็นต้น ติดทุกข์ก็ด้วยอารมณ์จิตนี้ เพราะฉะนั้นเจ้าต้องการจะพ้นทุกข์ก็ต้องหมั่นศึกษาอารมณ์ระงับสุข ระงับทุกข์ให้เห็นเป็นตัวธรรมดา อันหาสาระแก่นสารไม่ได้ หมั่นคิดพิจารณา หมั่นปลด หมั่นละอารมณ์จิตที่สร้างทุกข์ สร้างสุขลม ๆ แล้ง ๆ อยู่นี้ให้คลายไปจากจิต และหมั่นสร้างอารมณ์สังขารุเบกขาญาณให้เกิด เห็นการเสวยอารมณ์สุข-ทุกข์ ว่าไม่เป็นเรื่องเพราะเป็นอารมณ์แสวงหาความเกิด เราจักไม่ต้องการ เราต้องการจุดเดียวคือ แดนนิพพานอันดวงจิตไม่ต้องเคลื่อนและไม่ต้องจุติยังแดนต่างๆ อีก นิพพานนัง ปรมัง สุขัง นะลูก”


4. ขณะบันทึกน้ำตาก็ไหลไปด้วยความปีติในธรรม ที่พระพทุธองค์ทรงพระกรุณามาสั่งสอนให้ ทรงตรัสว่า “เจ้าต้องช่วยตนเองเร่งรัดความเพียร การมานิพพานได้ ต้องพึ่งตนเองเท่านั้น ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกนะเจ้า แต่ไม่สามารถบันดาลให้ใครเข้าพระนิพพานได้ การจบกิจในพระพุทธศาสนาต้องปฏิบัติความเพียรด้วยตนเองทั้งสิ้น การชี้ การแนะ การนำให้เห็นพระนิพพาน ตถาคตย่อมทำได้ ด้วยพุทธาบารมี แต่การมาได้หรือไม่ได้นั้น เป็นหน้าที่ของเหล่าพุทธสาวกจักพึงทำได้เอง หวังว่าเจ้าคงจักเข้าใจ” ตอบว่า เข้าใจพระพุทธเจ้าค่ะ “เมื่อเข้าใจ ก็จงหมั่นตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อยังมรรคผลนิพพานให้เกิดเถิด”


5. “อย่าลืมเตือนสติของตนเองไว้เสมอๆ มรณานุสติรุกเจ้าอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ในขณะจิตนั้นชีวิตของการเป็นมนุษย์มีสิทธิ์ที่จะพลัดพรากจากเราไป”


6. “การเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พบพระธรรมคำสอนโดยอริยสาวกเยี่ยงท่านฤาษีนั้น นับเป็นอุดมมงคลอย่างหาได้ยากนัก เพราะฉะนั้น พวกเจ้าจักมิพึงประมาทปล่อยปละละเลยให้จิตว่างจากความดี หากปล่อยให้จิตตกอยู่ในความเลว อารมณ์เลวเข้ามาสิงจิต มีความติดในอารมณ์ทุกข์-สุข ตายไปก็ไปค้างอยู่พรหมโลก-เทวโลก-อบายภูมิ 4 กลับมาเป็นมนุษย์ใหม่ ก็ต้องกลับมาเสวยทุกข์ เกิดดับอยู่ต่อไปอีกนับกาลนานมันดีนักหรือ”


7. “เพราะฉะนั้น จงอย่าประมาท การปฏิบัติธรรมมาถึงจุดนี้แล้ว ต้องทำกำลังใจในบารมี 10 ให้เข้มแข็ง อย่าแชเชือน ต้องหมั่นสอบอารมณ์จิตให้จริงจัง ปฏิบัติธรรมโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ตายเป็นตาย เพื่อมรรคผลนิพพาน”


8. “แต่พวกเจ้านั้นยังมีทุกข์ของกายอยู่ ต่างกับพรหม เทวดา นางฟ้า ที่ท่านเป็นอริยะ ทุกข์ของกายยังฉุดพวกเจ้าอยู่ บีบบังคับให้เสวยเวทนาทุกข์-สุข ไม่ทุกข์-ไม่สุขกับมันอยู่อย่างนั้น อารมณ์เวทนายังฉุดจิตพวกเจ้าให้ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในภพชาติต่างๆ อยู่ เพราะฉะนั้น พวกเจ้าจงอย่าประมาทเป็นอันขาด โอกาสได้มีน้อยกว่าพรหม เทวดา นางฟ้า แต่ถ้าเร่งความเพียรให้ถูกหลัก พวกเจ้าที่ยังเป็นมนุษย์นี่แหละ สามารถกอบกิจให้รวดเดียว มิต้องมาต่อระลอกสองบน เทวโลก พรหมโลกอีก หมั่นเตือนสติของตนไว้เสมอๆ ระวังชีวิตจะปิดฉากก่อนจบกิจแล้วจักเสียใจ จงอย่าประมาทเป็นอันขาด”




วิจารณ์..


ขออนุญาตอธิบายเพิ่มเติมสำหรับบางท่าน ที่อ่านแล้วยังสงสัยหรือยังไม่เข้าใจในธรรมที่พระองค์สอน เพราะธรรมเหล่านี้ทรงเน้นสอนให้เพื่อนของผมและผมเท่านั้น


1. ให้หมั่นดูอารมณ์ของตนเองอย่าให้เกิดอารมณ์ 2 คือพอใจกับไม่พอใจ หรือราคะกับปฏิฆะ ต้นเหตุเพราะจิตไม่สงบทำให้เกิดอารมณ์เกาะทุกขเวทนา กับสุขเวทนา จึงต้องรู้ตลอดเวลาว่า เมื่อถูกกระทบโดยกิเลสผ่านทวารทั้ง 6 แล้ว อารมณ์ใดเกิดหมายถึง จริตทั้ง 6 ถ้าไม่รู้ก็แก้ไขไม่ได้ เพราะต้องใช้กรรมฐานแก้จริตให้ตรงจึงจะมีผล จุดนี้คือหลักสูตรของพระอนาคามีผล ซึ่งผ่านยาก เพราะอดเผลอไม่ได้


2. ความทุกข์ใดๆ จักยิ่งไปกว่าอารมณ์จิตของตนเองทำร้ายตนเองนั้นไม่มี ดังนั้น บุคคลใดไม่คอยจับผิดตนเอง และคอยแก้ไขตนเองตลอดเวลา จึงไม่มีทางพ้นภัยตนเองได้ ผู้มีปัญญาจึงไม่ส่งจิตออกนอกตัว ไม่หาธรรมะนอกตัว ไม่จับผิดผู้อื่น ไม่ยุ่งกับกรรมของผู้อื่น จุดนี้ต้องใช้ปัญญาอันเกิดจากพรหมวิหาร 4 จึงหนักเรื่องการใช้สมถะและวิปัสสนา แยกสิ่งที่เป็นสาระออกจากสิ่งไร้สาระ การพิจารณาหากยังไม่ถึงตัวธรรมดาไม่เห็นธรรมดา ถือว่ายังไม่จบ มิฉะนั้นอารมณ์ช่างมันหรือสังขารุเบิกขาญาณไม่มีทางเกิด จุดนี้คือหลักสูตรอรหัตผล เมื่อข้อแรกยังเผลออยู่เป็นปกติ ข้อ 2 จึงห่างไกลความจริงมากขึ้น แต่พระองค์ก็ทรงให้กำลังใจ โดยเน้นเรื่องบารมี 10 อย่าทิ้ง และให้เร่งความเพียรให้ถูกหลัก ก็สามารถจะจบกิจได้ในชาตินี้ ถ้าไม่ประมาทในความตาย พร้อมตาย และซ้อมตายให้จิตชินด้วยความไม่ประมาท ใช้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน พระองค์เป็นเพียงผู้บอกชี้แนะทางปฏิบัติให้เท่านั้น


3. ความเพียรที่ถูกหลักคือ เพียรอยู่ในโพธิปักขิยธรรม 7 หมวด หรือ 37 ทางเท่านั้น คือ มหาสติปัฏฐาน 4, อิทธิบาท 4, สัมมัปปทาน 4, อินทรีย์ 5, โพชฌงค์ 7 และอริยมรรค 8 เท่านั้น




ที่สุดนี้ผมขอบารมีของ พระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ขอความเมตตาจากท่านให้ช่วยดลจิตใจให้ผู้ที่อ่านธรรมะที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์บทนี้แล้ว นำไปปฏิบัติตามอย่างจริงจัง จงประสบความสำเร็จ มีดวงตาเห็นธรรมได้ตามลำดับจนเข้าสู่พระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ทุกคนเทอญ














แหล่งที่มา : “ธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ ” เล่มที่ 5


โดย พระราชพรหมยานมหาเถระ (หลวงพ่อฤาษีวัดท่าซุง)


รวบรวมโดย : พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

บ้านอิ่มบุญ

บ้านอิ่มบุญ
กลับหน้าหลัก